รพ.กระบี่ แถลงกรณีผิดพลาดให้เด็กทานคาลาไมน์จนถึงขั้นวิกฤต
ผอ.รพ กระบี่ แถลง อาการผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการถ่ายเหลว ขณะนี้อาการดีขึ้นตามลำดับ กรณีรับประทาน ยาคาลาไมน์ ปริมาณที่ระบุ ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิฤกต ถึงแม้ผู้ป่วยจะเป็นเด็กก็ตาม
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายแพทย์สุรัตน์ ตันติทวีวรกุล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกระบี่ แถลงข่าว ที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดกระบี่ จากกรณี เจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา โรงพยาบาลคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ติดฉลากยา ที่ข้างขวดยา ผิด แล้วจ่ายยาให้กับแม่เด็กทารกเพศชายวัย 2 เดือน หลังจากเข้ารักษาอากาศป่วยเป็นไข้ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา เมื่อกลับถึง บ้านพัก แม่เด็กนำยาที่ได้มา ป้องให้ลูกกิน เป็นยาน้ำแบบขวดมีฉลากยาภาษาไทย ระบุว่าเป็นแคลเซียม ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด หรือ 1 ซีซี แม่เด็กทารกนำยาใส่หลอดป้อนให้ลูกกินตามคำแนะนำของ รพ. แต่ 1 ซีซี ต้องป้อน 2 ครั้ง เมื่อป้อนไปครั้งแรก ลูกก็กินปกติ แต่พอป้อนครั้งที่ 2 ลูกไม่ยอมกิน และเริ่มร้องงอแง แม่เด็กจึงให้สามีตรวจสอบและลองชิมยา พบว่าเป็นยาคาลาไมน์ ยาสำหรับรักษาอาการโรคผิวหนัง ใช้สำหรับทาภายนอก หลังจากนั้นลูกมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว จึงพากลับมาที่โรงพยาบาลคลองท่อมอีกครั้ง แพทย์ให้ นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 6 คืน อาการก็ยังไม่ดีขึ้นถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลกระบี่ สร้างความกังวลแก่พ่อแม่เด็กเป็นอย่างมาก
นายแพทย์สุรัตน์ ตันติทวีวรกุล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกระบี่ เปิดเผยว่า หลังจาก เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลกระบี่ ได้ให้การดูแลผู้ป่วยเด็กในห้องแยก (NICU) เพื่อที่จะให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในอาการวิกฤติ รู้สึกตัวดี โดยแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ในการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก เช่น การให้ออกซิเจน การใสท่อสวนปัสสาวะ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติแต่อย่างใด หากแต่แพทย์ต้องการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ล่าสุดอาการผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ ทางแพทย์เตรียมให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร (นม) ตามปกติได้ในพรุ่งนี้
กรณีที่ผู้ป่วยได้รับประทานยาคาลาไมน์ ที่ปรากฏในข่าว ทางศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่าปริมาณยาคาลาไมน์ที่ผู้ป่วยได้รับดังปรากฎในข่าวนั้น ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิฤกติ ถึงแม้ผู้ป่วยจะเป็นเด็กก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ จะนำเรื่องเข้าพิจารณากรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (มาตรา 41) เพื่อเยียวยาผู้ป่วยตามข้อเท็จจริงต่อไป และตรวจสอบมาตรการ การจ่ายยาตามโรงพยาบาลต่างๆ ให้เพิ่มความรอบคอบมากขึ้น