เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ดำน้ำสำรวจประชากรของ ดาวมงกุฎหนาม หรือ ปลาดาวหนาม ซึ่งเป็นปลาดาวทะเลขนาดใหญ่ บริเวณเกาะปิดะนอก ใกล้กับเกาะพีพี แหล่งดำน้ำที่ขึ้นชื่อ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี หลังจากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จากการสำรวจเบื้องต้นพบประชากรดาวมงกุฎหนาม จำนวนกว่า 30 ตัว นับได้ว่าเป็นจำนวนที่มากเข้าขั้นการระบาด
นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า จากการสำรวจดาวมงกุฎหนามในครั้งนี้พบจำนวนกว่า 30 ตัว ซึ่งหลังจากนี้จะหารือกับทางนักวิชาการก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องมีการกำจัดออกไปให้เกิดความสมดุลต่อระบบแนวปะการัง เพราะถือว่ามีจำนวนมากและเข้าขั้นระบาด
ขณะที่เว็บไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เผยแพร่เรื่องดาวมงกุฎหนามไว้ โดยระบุว่า ดาวมงกุฎหนาม เป็นดาวทะเลขนาดใหญ่ มีแขนรวมกันทั้งหมด 8-21 แฉก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซนติเมตร โดยดาวมงกุฎหนามจะกินปะการังเป็นอาหาร ด้วยการปล่อยกระเพาะอาหารออกมาคลุมบนปะการัง และปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อเยื่อปะการังและดูดซึมเข้าไป เมื่อปะการังตายจะถูกแรงคลื่นซัดทำให้หักพังเสียหายได้
ทั้งนี้ ดาวมงกุฎหนามที่โตเต็มวัย ปกติจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซ็นติเมตร บนหนามมีสารซาโปนิน (saponin) เคลือบอยู่ ซึ่งมีพิษต่อสัตว์หลายชนิด ตัวเมียแต่ละตัวมีไข่ประมาณ 12-24 ล้านฟอง ปริมาณดาวมงกุฎหนามมากขนาดไหนจึงจะเรียกว่าระบาด ยังเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณไว้ว่า การที่จะเรียกว่าระบาดนั้นควรจะพบดาวมงกุฎหนามได้มากกว่า 14 ตัว ต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร หรือจากการว่ายน้ำดูแล้วพบดาวมงกุฎหนามมากกว่า 40-100 ตัว ใน 20 นาที
แต่จากการศึกษาในระยะหลังมีการสรุปว่า ปริมาณดาวมงกุฎหนามในพื้นที่ 1 เฮกแตร์ (ประมาณ 10,000 ตารางเมตร) หากมีจำนวนเกิน 10 ตัว ก็ถือว่าอยู่ในระดับระบาดแล้ว ถ้าเกิน 30 ตัว ถือว่าระบาดรุนแรงมาก เมื่อดาวมงกุฎหนามระบาด ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแนวปะการังจะแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าที่จะเกิดจากสาเหตุการทำลายโดยปัจจัยอื่นๆ เพราะดาวมงกุฎหนามสามารถคืบคลานกินปะการังได้ทุกซอกทุกมุม
มีรายงานว่าบริเวณเกาะกวม (ในมหาสมุทรแปซิฟิก) แนวปะการังถูกดาวมงกุฎหนามทำลายไปเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรต่อเดือน บริเวณที่ถูกทำลายไปแล้วปะการังอาจฟื้นตัว ก่อตัวขึ้นใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10-40 ปี หรือนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย การควบคุมดาวมงกุฎหนามให้มีปริมาณน้อยลง (ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก) ในหลายๆประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้ลงทุนกำจัดดาวมงกุฎหนามโดยใช้ทุนไป 600 ล้านเยน กำจัดดาวมงกุฎหนามไป 13 ล้านตัวที่เกาะริวกิว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970-1983 แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ที่ผ่านมามีการกำจัดดาวมงกุฎหนามหลายวิธี เช่น เก็บขึ้นมาทิ้งบนฝั่ง การฉีดสารเคมีบางชนิดเข้าไปในตัวดาวมงกุฎหนาม แต่ก็กระทบกับสภาพแวดล้อมในบริเวณดังกล่าว หรือการใช้หอยสังข์แตรเป็นตัวกำจัดดาวมงกุฎหนาม แต่ปัจจุบันหอยสังข์แตรก็หายากและใกล้สูญพันธุ์ไปแล้วด้วย
วิธีการเดียวที่ดีที่สุดและได้ผลมากที่สุดที่สามารถทำลายสัตว์ชนิดนี้ได้ คือ การนำดาวมงกุฎหนามขึ้นจากใต้ทะเล และนำมาตากแดดบนฝั่ง ก่อนที่จะนำไปทำลายซากโดยการฝัง เพราะหากไปทำลายในทะเล ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนของดาวมงกุฎหนาม เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้เติบโตด้วยการแบ่งตัวและแตกหน่อ
นอกจากนั้นเมื่อปี 2552 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เคยจัดกิจกรรมเก็บดาวมงกุฎหนาม ที่เกาะแอว มีการระบาดของดาวมงกุฎหนามค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถเก็บขึ้นมาได้ถึง 368 ตัว ส่วนบริเวณพื้นที่เกาะเฮ ทั้งด้านอ่าวใหญ่และอ่าวกล้วย สามารถเก็บดาวมงกุฎหนามขึ้นมาได้จำนวน 132 ตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยมีการเก็บดาวมงกุฎหนามไปแล้วประมาณ 300 ตัว เพื่อกำจัดและควบคุมดาวมงกุฎหนามที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในบริเวณปะการัง ให้มีปริมาณลดน้อยลง
ข่าว/ภาพ บัญฑิต รอดเกิด ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.กระบี่