สัมภาษณ์
ปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวอยู่ในภาวะ “ยากลำบาก” แต่สำหรับรายใหญ่แล้วแม้ว่าจะต้องเผชิญกับพายุลูกใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ก็ยังสามารถยืนหยัด มีพละกำลัง และมีกระแสเงินสดพอที่จะรับมือกับวิกฤตได้
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ถึงทิศทางการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไว้ดังนี้
“ธีระยุทธ” บอกว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวอย่างมาก มีโรงแรมจำนวนมากที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวอีกครั้ง โดยในส่วนของกลุ่มเซ็นทารานั้นก็ได้ประกาศปิดให้บริการโรงแรมเป็นการชั่วคราวอีกหลายแห่ง เช่น ภูเก็ต, พัทยา, กระบี่ รวมถึงในกรุงเทพฯ (เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว) เป็นต้น
พร้อมเปิดอีกครั้ง 10 ก.พ.นี้
โดยเหลือส่วนที่เปิดให้บริการเฉพาะโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง (own property) ในประเทศ 4 แห่ง คือ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทารา หัวหิน, เซ็นทารา แจ้งวัฒนะ และเซ็นทรา บาย เซ็นทารา แม่สอด (จ.ตาก) ส่วนในต่างประเทศยังคงเปิดให้บริการตามปกติหลายแห่ง อาทิ กาตาร์, ศรีลังกา, โอมาน และมัลดีฟส์
อย่างไรก็ตาม มองว่าผลกระทบดังกล่าวนี้เป็นผลกระทบระยะสั้น และยังมีการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ domestic tourism เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
ทั้งนี้ กลุ่มเซ็นทารามีแผนกลับมาทยอยเปิดให้บริการโรงแรมที่ได้ปิดชั่วคราวกันอีกครั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ เป็นต้นไป โดยเริ่มจากเปิดให้บริการโรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จากนั้นจะเปิดโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต และเซ็นทารา วิลล่า สมุย ในวันที่ 1 มีนาคม
หลังจากนั้นจะเปิดโรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ (สงขลา), เซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์วิลล่า กระบี่ และโคซี่ พัทยา วงศ์อมาตย์ บีช ในวันที่ 1 เมษายน และเดือนมิถุนายนจะเปิดโรงแรมอีก 3 แห่งที่เหลือในภูเก็ต และโคซี่ สมุย เฉวงบีช
ปี’64 เปิด 8 แห่งทั่วเอเชีย
และเพื่อให้การดำเนินงานสอดรับกับเป้าหมายระยะยาวในการเป็นผู้นำให้บริการโรงแรมติดอันดับ 100 อันดับแรกของโลกภายใน 5 ปี “ธีระยุทธ” บอกว่า ในปี 2564 นี้บริษัทมีแผนเพิ่มโรงแรมและรีสอร์ตใหม่อีก 8 แห่ง ครอบคลุม 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้ 5 แบรนด์ ได้แก่ Centara Reserve, Centara Grand, Centara, Centara Boutique Collection และ Centra by Centara
โดยจะเริ่มเห็นความชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปกับการเปิดตัวโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของแบรนด์คอลเล็กชั่น “Reserve” (เดิมคือเซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย) ตามด้วยโรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท มุยเน่ รีสอร์ท (เวียดนาม), โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลิเกีย เวิลด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา (ตุรกี), โรงแรมเซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ, โรงแรม The B Premiere Hotel, Centara Boutique Collection โดฮา (กาตาร์)
“ตะวันออกกลางเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของเรา ซึ่งในปีนี้จะมีโรงแรมใหม่ใน 2 จุดหมายปลายทางหลักของภูมิภาคนี้ คือในดูไบจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 3 จากนั้นจะเปิดให้บริการที่กรุงโดฮาในช่วงไตรมาส 4 นอกจากนั้นยังมีแผนขยายไปอินโดจีนในไตรมาส 4 ได้แก่ Centra by Centara Hotel Thiri Hpa-An เป็นโรงแรม 77 ห้องใน Hpa-An (เมียนมา) และโรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา, เซ็นทารา บูติค คอลเล็กชั่นในวังเวียง (ลาว)”
มั่นใจต่างชาติเริ่มเดินทาง Q3
“ธีรยุทธ” ยังประเมินภาพรวมของธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวสำหรับปีนี้ด้วยว่า เชื่อว่าโดยรวมทั้งปีตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือประมาณไตรมาส 3 เป็นต้นไป โดยเริ่มจากนักท่องเที่ยวจากในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคเอเซีย จากนั้นนักท่องเที่ยวระยะไกลจากยุโรป อเมริกาจะเริ่มทยอยเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 โดยมีปัจจัยบวกเรื่องของวัคซีนที่เริ่มกระจายฉีดแล้วทั่วโลก
“อยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้เข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่มีการกักตัวและเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนไทยในประเทศด้วยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติด้วย เพื่อสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
พร้อมประเมินว่า แนวโน้มความต้องการท่องเที่ยวยังมีอยู่ เชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาได้แน่นอน ถ้าเขามีความมั่นใจ หากรัฐบาลเปิดประเทศช้าภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจะยิ่งได้รับความเสียหายหนัก และจะทำให้ประเทศเสียโอกาสในด้านการแข่งขัน หากประเทศเพื่อนบ้านสามารถเปิดได้ก่อน อย่างมัลดีฟส์เปิดประเทศตั้งแต่กรกฎาคม 2563 โรงแรมเขาเริ่มทำรายได้ดีเกือบเท่า ๆ กับปี 2562
คาดปี’66 กลับมาได้เท่าปี’62
สำหรับด้านรายได้นั้น “ธีระยุทธ” ให้ข้อมูลว่าในปี 2563 ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากในประเทศมีสัดส่วนถึงเกือบ 40% จากปกติที่มี 20% เนื่องจากตลาดต่างประเทศซึ่งมีสัดส่วนรายได้รวมถึง 80% ได้รับความเสียหายไปถึงราว 70% สำหรับปีนี้ยังคาดว่ารายได้หลักยังคงมาจากตลาดในประเทศเช่นเดียวกับปี 2563 ที่ผ่านมา
โดยคาดว่าการฟื้นตัวของรายได้สำหรับปีนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 55-60% ของปี 2562 และเพิ่มเป็นประมาณ 80% ของปี 2562 ได้ในปี 2565 และกลับมาพลิกฟื้นได้ในอัตราใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีรายได้รวม 8,500 ล้านบาทได้ภายในปี 2566 และเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลาย ๆ องค์กรที่ได้คาดการณ์ไปแล้วก่อนหน้านี้
อีก 5 ปีมี รร.ในพอร์ต 140 แห่ง
“ธีระยุทธ” ยังบอกด้วยว่า ในระยะยาวแล้วยังคงมั่นใจในความแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวของไทย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยยังคงติดอันดับท็อป 10 เดสติเนชั่นที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกนิยมมาตลอด ซึ่งในแผน 5 ปี (2564-2568) ของเซ็นทารานั้นมีเป้าหมายเพิ่มโรงแรมในพอร์ตโฟลิโอเป็น 130-140 แห่งทั่วโลกจากปัจจุบันมีโรงแรมในเครือ 83 แห่ง จำนวนราว 17,000 ห้อง
“ปี 2563 เราเพิ่มโรงแรมใหม่ได้ 10 แห่ง จาก Pipeline 39 แห่ง ส่วนในปี 2564 นี้ เราเตรียมเปิด 8 แห่ง โดยวางงบฯลงทุนไว้ 3,600 ล้าน โดยแบ่งเป็น 300 ล้าน สำหรับโอเปอเรชั่นในโรงแรม และอีก 3,300 ล้านบาท สำหรับรองรับการเติบโตในอนาคต”
สำหรับแผนการขยายตัวใน 5 ปีนั้นจะมีโครงการใหม่เมืองโอซากา (ญี่ปุ่น), ลาว, มัลดีฟส์ รวมถึงยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ”
พร้อมย้ำว่า สำหรับ “กลุ่มเซ็นทารา” นั้น ณ วันนี้ถือว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดรายหนึ่ง เพราะได้เครดิตวงเงินจากธนาคาร (line credit) จำนวน 6.2 หมื่นล้านเข้ามาหมุนเวียน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นบริษัทก็จะยังมีกระแสเงินสดอยู่รอดได้ถึงสิ้นปีนี้…