กระบี่ – จังหวัดกระบี่ เสนอเปิดอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กระตุ้นการท่องเที่ยว หลังปิดฟื้นฟูมานานเกือบ 3 ปี โดยเสนอต่อคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการประกาศปิดอ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มาเป็นเวลานานเกือบ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลและบนบก รวมทั้งปลูกปะการังทดแทนในส่วนที่ได้รับความเสียหายทั้งจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน ได้มีการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเสนอให้มีการเปิดอ่าวมาหยาอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่รู้จักกันทั่วโลก แต่จะมีมาตรการควบคุม เช่น กำหนดเขตการเข้ามาจอดเรือไว้โดยให้ลอยลำหน้าอ่าวมาหยา การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว มีการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายหาด เพื่อช่วยยึดหน้าดินป้องกันการพังทลายของเนินทรายหน้าหาด
และในช่วงปิดอ่าวมาหยา พบมีผักบุ้งทะเลขึ้นปกคลุม และมีการติดตามการกัดเซาะชายหาดต่อเนื่อง รวมทั้งฟื้นฟูระบบนิเวศปะการังเสื่อมโทรมโดยการขยายพันธุ์ปะการังที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งขยายพันธุ์ไปแล้ว 7 สกุล รวม 23,000 โคโลนี พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จัดทำทางเดินยกระดับลดการเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว ห้ามเล่นน้ำบริเวณอ่าวมาหยา เปิดช่องทางให้เรือเข้าทางอ่าวโละซามะเท่านั้น เป็นต้น
จังหวัดกระบี่ได้นำเสนอข้อมูลในด้านต่างๆ ให้ทางคณะกรรมาธิการธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับทราบ เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหา และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสร้างรายได้สำคัญของประเทศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประชาชนในสถานการณ์การฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อไป
สำหรับอ่าวมาหยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก และที่ผ่านมา บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติชื่อดังได้ใช้อ่าวมาหยา เป็นโลเกชันในการถ่ายทำภาพยนต์ เรื่อง “เดอะบีช” ด้วย ก่อนที่กรมอุทยานฯ ได้ประกาศปิดอ่าวมาหยาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู