11 มีนาคม 2564
| โดย พรไพลิน จุลพันธ์
502
ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. วันที่ 19 มี.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอโมเดล “แซนด์บ็อกซ์” (Sandbox) เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากทุกชาติที่มีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในพื้นที่ที่กำหนดแบบไม่ต้องกักตัว!
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โมเดล “แซนด์บ็อกซ์” ดังกล่าวเหมือนกับการทำ “ทราเวลบับเบิล” (Travel Bubble) ระหว่างเมืองต่อเมือง แต่ต้องสัมพันธ์กับจำนวนวัคซีนที่ประชากรในพื้นที่นั้นๆ ได้รับ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มโมเดลนี้กับตลาดจีนเที่ยวไทย
“กระทรวงการท่องเที่ยวฯคาดหวังว่าจะเริ่มใช้โมเดลแซนด์บ็อกซ์ได้ในเดือน ก.ค.นี้ นำร่องที่จังหวัดภูเก็ตก่อน ภายใต้เงื่อนไขต้องฉีดวัคซีนให้แก่ประชากร 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในพื้นที่ หรือคิดเป็นจำนวน 900,000 โดส แก่ประชากร 450,000 คน”
ก่อนจะใช้โมเดลนี้ในพื้นที่นำร่องอื่นๆ ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ กระบี่ และพังงา ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องขอวัคซีนแก่ประชากรทั้ง 3 จังหวัดฝั่งอันดามันรวม 3 ล้านโดส ก่อนที่รัฐบาลจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยแบบไม่ต้องกักตัวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว
แนวคิดการใช้โมเดลแซนด์บ็อกซ์ถูกนำไปหารือร่วมกับตัวแทนภาครัฐและเอกชน 3 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ในที่ประชุมหารือเตรียมความพร้อมเรื่องแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ วานนี้ (10 มี.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดสร้างรายได้รวมกันมากถึง 6 แสนล้านบาท! คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2562 ซึ่งสร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ภูเก็ต 4.7 แสนล้านบาท กระบี่ 1 แสนกว่าล้านบาท และพังงาอีก 4.5 หมื่นล้านบาท
พิพัฒน์ เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางผ่อนคลายการเปิดประเทศในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเตรียมลดจำนวนวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 14 วัน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก จากนั้นเข้ากักตัวในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ “แอเรีย ควอรันทีน” (Area Quarantine) นาน 7 วัน โดยทาง สธ.แจ้งก่อนหน้านี้ว่าจะต้องอยู่แต่ในห้องพักเท่านั้น แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาว่าไม่ต้องอยู่เฉพาะแค่ในห้องพักตั้งแต่วันแรก สามารถออกมาทำกิจกรรมภายในบริเวณที่กำหนดได้เลย แล้วค่อยสวอปหาเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ถ้าไม่เจอเชื้อถึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวได้หลังจากกักตัวครบ 7 วัน
ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมา ต้องสวอปหาเชื้อก่อนเป็นครั้งแรก แล้วเข้ากักตัวที่โรงแรมที่เป็นแอเรีย ควอรันทีน เป็นเวลา 10 วัน ก่อนสวอปหาเชื้ออีกเป็นครั้งที่ 2 จากนั้นถึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวได้
โดยจะเริ่มดีเดย์วันที่ 1 เม.ย.นี้ และรัฐบาลจะ “ประกาศไทม์ไลน์” อย่างชัดเจนว่าทุกๆ 2 เดือนนับจากนี้จนถึงสิ้นปี 2564 จะผ่อนปรนการเปิดประเทศได้ขนาดไหนและอย่างไร โดยจะนำร่อง 7 จังหวัดท่องเที่ยวสำหรับแอเรีย ควอรันทีน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา และจอมเทียน) รวมถึง กรุงเทพฯ และ พังงา (เขาหลัก) ที่เพิ่งเพิ่มมาล่าสุด
เมื่อเจาะเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมา และได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างหนัก เพราะภูเก็ตพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงขาเดียว โดยในปี 2562 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวมาเยือนรวม 10 ล้านคน สร้างรายได้ 4.7 แสนล้านบาท
“เมื่อเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม ศบค.วันที่ 19 มี.ค.นี้แล้ว ผมจะสื่อสารกับชาวภูเก็ตอีกครั้ง หลังจากปีที่แล้วผมพูดเรื่องภูเก็ตโมเดลเร็วเกินไป จึงไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร”
ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดย ททท. ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จังหวัดภูเก็ต และโรงแรมศรีพันวา จัดทำโครงการนำร่องวิลลา ควอรันทีน (Villa Quarantine) ในพื้นที่โรงแรมศรีพันวา จ.ภูเก็ต โดยรับนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางท่องเที่ยวจากประเทศอินโดนีเซียมายังประเทศไทย ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ จำนวน 58 คน ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และได้รับหนังสือรับรองการกักกันครบตามระยะเวลาที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว พร้อมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2564 เป็นต้นไป
ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นถึงระบบการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนในพื้นที่ เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวครั้งสำคัญ!