กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย โควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดทั่วกทม.กว่า 52% แทนที่อัลฟ่าแล้ว ขณะที่ภูมิภาคพบใน 47 จังหวัด
วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ในแถลงข่าวการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าภาพรวมการเฝ้าระวังโควิด-19 ตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังทั้งประเทศตั้งแต่ 1 เม.ย.- 2ก.ค.2564 เป็นสายพันธ์อัลฟ่า(อังกฤษ) 81.98 % เดลต้า(อินเดีย) 16.36 % และเบต้า (แอฟริกาใต้) 1.66 %
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน ตั้งแต่ 28 มิ.ย.-2 ก.ค.2564 การตรวจสายพันธุ์ในภาพรวมประเทศพบว่า สายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นเป็น 32.2% แล้ว ขณะที่อัลฟ่า 65.1 % และเบต้า 2.6 % แต่ถ้าหากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ ตอนนี้ กทม.สายพันธุ์เดลต้าเพิ่มเป็น 52 % อัลฟ่า 47.8 % เบต้า 0.2 % ซึ่งจะเห็นว่าในพื้นที่ กทม.สายพันธุ์เดลต้าระบาดมากกว่าอัลฟ่าแล้ว ถือว่าเป็นการเข้ามาค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย ในขณะที่ต่างจังหวัดเดลต้าก็เพิ่มขึ้นเป็น 18 % ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยพบใน 47 จังหวัด ส่วนอัลฟ่าพบ 77.6 % และเบต้า 4.4 %
“สถานการณ์โควิดใน กทม.ขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์เดลต้า กระจายอยู่ในทุกเขต ส่วนสายพันธุ์เบต้า สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่ม 50 กว่ารายแต่ยังจำกัดวงอยู่ที่ จ.นราธิวาส มีกระจายไปจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.สุราษฎร์ธานีมียืนยัน 1 ราย นครศรีธรรมราช 3 ราย กระบี่ 1 ราย ส่วนกรุงเทพฯ เพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งเป็นญาติของรายแรกที่พบการติดเชื้อ”
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จากคำถามที่ว่าวัคซีนที่ฉีด สรุปสามารถจัดการหรือมีผลต่อสายพันธุ์ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็พบว่ายังให้ภูมิคุ้มกันสูงอยู่กับสายพันธุ์เดิม แต่เมื่อเป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ ทำให้เราต้องวางแผนทดสอบภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนหลายแบบโดยวางแผนจะทดสอบทั้งในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 8 กลุ่ม ตัวอย่างเลือด
กลุ่มละอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง คือ 1.ซิโนแวค 2 เข็ม มีแล้ว 12 ตัวอย่าง 2.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีแล้ว 31 ตัวอย่าง 3.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 4.ซิโนแวคตามด้วยแอสร้าเซนเนก้า มีแล้ว 8 ตัวอย่าง 5. ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 6.mRNA 2 เข็ม มีแล้ว 20 ตัวอย่างจากผู้ที่เดินทางหรือฉีดมาจากต่างประเทศ 7.ซิโนแวค 1 เข็มตามด้วย mRNA 8.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ตามด้วย mRNA
โดยในส่วนที่มีตัวอย่างอยู่แล้วคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มอื่นก็จะเร่งดำเนินการ เพื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเชื้อที่ระบาดในประเทศ โมเดลการให้วัคซีนควรเป็นแบบไหนที่มีประสิทธิผลมากสุด ก็จะเสนอฝ่ายนโยบายพิจารณาต่อไป
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat