เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ภาคเอกชน-ประชาชนจังหวัดอุดรธานี ยื่นหนังสือถึง”นายกฯ”ค้านโอนสนามบินอุดรธานี จาก ทย.ไปให้ทอท.บริหาร ชี้สนามบินเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐพึงจัดให้เพื่อบริการประชาชน ย้ำนโยบายต้องไม่กระทบประชาชนและผู้ประกอบการท้องถิ่น แนะชะลอและทบทวนการศึกษาผลกระทบใหม่ คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ
รายงานเปิดเผยว่า จากกรณีที่ มีข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 4 ส.ค. 2561 สมัยรัฐบาลคสช. ให้โอนสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รับผิดชอบบริหารจัดการ โดยดำเนินการโอนให้ ถูกกฎหมาย เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาทอท. มีการปรับ แผนขอรับโอนใหม่ เป็น 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ บุรีรัมย์ และอุดรธานี และกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนม.ค. 2565 นั้น
รายงานข่าวเปิดเผยว่า กรณีการโอนสนามบินอุดรธานีนั้น ที่ผ่านมา ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประชาขนในพื้นที่ได้แสดงความเห็นคัดค้านมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนและเทศบาลนครอุดรธานี โดยณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย จังหวัดอุดรธานี ได้ยื่นหนังสือ ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ชะลอการถ่านโอนสนามบินอุดรธานี จาก กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ
โดยระบุว่า สืบเนื่องมาจากภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 องค์กร ประกอบด้วย เทศบาลนครอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี หอการค้าจังหวัดอุดรธานี ชมรมธนาคารจังหวัดอุดรธานี สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี สมาคมนักธุรกิจไทย เวียดนามแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่จังหวัดอุดรธานี Young FTI ประชารัฐจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดอุดรธานีและตัวแทนผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุดรธานี ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการโอนย้ายการบริหารสนามบินอุดรธานี จาก กรมท่าอากาศยาน ไปให้กับ ทอท.
ทางภาคเอกชน และเทศบาลนครอุดรธานี จึงได้จัดการประชุมพิจารณา แลกเปลี่ยนข้อมูล ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และมีข้อสรุปจากที่ประชุมดังนี้
1.สนามบินอุดรธานี ซึ่งมีการบริหารโดย กรมท่าอากาศยาน ได้มีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น อาคารสถานที่ อาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน ลานจอดอากาศยาน ระบบช่วยเดินอากาศ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบริการเครื่องบินทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานของ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) และสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับภาครัฐโดยตรง
พร้อมกับภาคธุรกิจเอกชนใน จ.อุดรธานี เห็นว่าสนามบินอุดรธานี มีโอกาสที่จะพัฒนาเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ระดับต่างประเทศได้อีกมาก อีกทั้ง กรมท่าอากาศยาน เป็นองค์กรที่สามารถยกระดับสนามบินอุดรธานี ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติอยู่แล้ว สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับภูมิภาค ดึงดูดนักท่องเที่ยวนักลงทุนมายังภูมิภาคอีสานตอนบน ได้อย่างดี
ทางภาคธุรกิจเอกชน จึงอยากจะขอรับทราบนโยบาย และแผน ทิศทางในการบริหารสนามบินอุดรธานีในอนาคต จากกรมท่าอากาศยานโดยตรง เพื่อที่จะได้เข้าใจในนโยบาย และการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคอีสานตอนบน
2.สนามบินอุดรธานี ถือว่าเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐพึงจัดให้เพื่อบริการประชาชน ซึ่งถือว่าประชาชนในจ.อุดรธานี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับผลกระทบโดยตรง จากนโยบาย ทิศทางการบริหารงานของสนามบินอุดรธานี จึงมีความเห็นว่า ในการบริหารงานในอนาคต ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสนามบินประกอบไปด้วย ผู้บริหารของสนามบิน ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนจากประชาชนและชุมชนที่สนามบินตั้งอยู่ เป็นต้น
3.ตามที่มีข่าวเผยแพร่มาโดยตลอดว่า ทอท. จะขอเข้าดำเนินการบริหารจัดการสนามบินอุดรธานี นั้น ที่ประชุมมีความกังวล และมีความไม่ชัดเจน ในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางการพัฒนาสนามบิน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูง และมีความต่อเนื่องในการสร้างความสามารถในการแข่งชัน การบริการต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชนอุดรธานีจะได้รับ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้เข้าไปใช้บริการจะได้รับผลกระทบ รวมถึงโอกาสในการยกระดับสนามบินเพื่อรองรับโอกาสต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อาจจะสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจในสนามบิน รวมถึงความไม่ชัดเจนในวิธีการคัดเลือก ทอท. ให้เข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานี
ดังนั้น ทางภาคเอกชน และเทศบาลนครอุดรธานี มีความประสงค์ขอความกรุณาจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ชะลอการดำเนินการโอนย้ายการบริหารสนามบินอุดรธานี ไปสู่ทอท. และขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นตัวแทนทางราชการ ทบทวน ศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ของแนวทางการการบริหารและการพัฒนาสนามบิน โดยจะต้องมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในฐานะเจ้าของพื้นที่และเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ได้เข้ามารับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว โดยยึดหลักปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคประชาชนสูงสุด