การเมือง
ปลัดมหาดไทยเดินหน้าขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด
วันพุธ ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565, 16.06 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานสักขีพยานลงนาม MOU ขับเคลื่อนการพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด มุ่งสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำ “คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน Change for Good สิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิตประจำวันเพื่อรักษาโลกของเราให้คงอยู่กับลูกหลานอย่างยั่งยืน”
วันนี้ (12 ม.ค.65) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ “พัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” ระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กับจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดแพร่ และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ “นำร่องเพื่อพัฒนากิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองโดยใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจ” ระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กับจังหวัดขอนแก่น จังหวัดกระบี่ โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นางพงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “อบก.” ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกในจังหวัด และสร้างสรรค์โปรแกรม/แพลตฟอร์มให้ทุกภาคส่วนในสังคม ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อช่วยกันเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนช่วยกันดูแลชุมชน ดูแลท้องถิ่น ดูแลจังหวัดของตนเองให้เป็นจังหวัดต้นแบบ ให้เป็นจังหวัดที่ทำบุญกับโลกใบนี้ของเรา ซึ่งเราตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 มันจะไม่มีทางเป็นไปได้ “ถ้าวันนี้เราไม่ทำทันที” ดังที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่ว่า “ให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลก เพราะเราทุกคนไม่มี “แผนสอง” ในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี “โลกที่สอง” ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว” รวมถึงคำกล่าวของนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า “ต้องทำทันที (Action Now) เราไม่มีแผนสอง เพราะเรามีโลกใบเดียว (No plan B Only Planet One Planet) เราจึงจะรีรอที่จะทำไม่ได้ มันจะไม่ทันการณ์แน่นอน ดังนั้นจะไม่เพียงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เราต้องเสริมกำลังด้วยการทำพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน ชาวมหาดไทย ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีหน้าที่ทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชนในทุกจังหวัด จะร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ช่วยกันคิดว่าแท้ที่จริง ทุกอณูชีวิต ทุกลมหายใจของมนุษย์ จะมีสิ่งใดที่ทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้บ้าง ซึ่งส่วนกลางในฐานะหน่วยวิชาการต้องช่วยจังหวัดจำแนกแยกแยะข้อมูลแนวทางการแก้ปัญหา/การใช้ชีวิต ออกมา ว่าตั้งแต่ตื่นนอน กระทั่งการทำมาหากิน ใช้ชีวิตประจำวัน พี่น้องประชาชน และองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การทำเกษตรอินทรีย์ การแยกขยะ การปลูกต้นไม้ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Credit) เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกัน
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ในแง่ของ “เศรษฐกิจฐานราก” ก็มีส่วนช่วยในการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกใบนี้ เช่น การณรงค์สวมใส่ผ้าไทย ผ้าทอ ของผู้ประกอบการชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยในการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ทำให้เรามีเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเงินไม่รั่วไหลไปต่างชาติ เพราะในการผลิต เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด เรื่องผ้าไทย ภูมิปัญญาอัตลักษณ์ความเป็นไทย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระองค์ไม่สวมใส่ชุดที่ย้อมด้วยสีเคมี ทรงโปรดสีธรรมชาติ ส่งผลทำให้ชาวบ้านผู้ประกอบการเกิดทิฐิมานะในการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติมากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ลดรายจ่าย อันมีนัยสำคัญครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการลดปล่อยก๊าซเรือนจกสู่อากาศ เพราะเราไม่ต้องนั่งรถไปซื้อผัก ผลไม้ ดังนั้น การลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกจึงเกี่ยวข้องกับทุกลมหายใจ ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
“ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนในฐานะพลเมืองของประเทศชาติที่มีความรักและความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องช่วยกันในการ Change for Good ให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อรักษาโลกใบเดียวของเราให้อยู่นาน ๆ อยู่คู่กับลูกหลาน ที่เราทุกคนไม่อยากให้สูญสลายหมดสิ้นไปจากโลก ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ มันอยู่ในน้ำมือพวกเราทุกคน”
ในช่วงท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อย่างใกล้ชิด ในการจัดทำข้อมูลองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติ คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน และถ่ายทอดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อสามารถขับเคลื่อนขยายผลไปยังองคาพยพในจังหวัด ทั้งราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชน และทุกภาคส่วนในพื้นที่ และขอเป็นกำลังใจในการพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้มีโอกาสในการ Change for Good ให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในชีวิตของพวกเราทุกคน รวมทั้งส่งเสริมการใช้กลไกตลาดในการจัดทำ platform แปลงหน่วยที่เป็น carbon credit เพื่อเป็นเรื่องใกล้ตัวง่าย ๆ ซึ่งจะทำให้กลไกตลาดง่ายสำหรับคน/องค์กร และลดระยะเวลาการแก้ไขปัญหาให้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น อันจะทำให้การปลดปล่อยก๊าซที่จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมันลดน้อยถอยลง และเป็นไปตามเป้าหมาย ปี 2065 การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ก็จะทำให้โลกของเราจะอยู่คู่กับจักรวาล คู่กับมวลมนุษยชาติไม่มีวันสิ้นสุด
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ โดยมี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เพื่อประกาศเจตจำนงที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด สนับสนุนให้จังหวัดมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุตามเป้าหมายของประเทศ และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่จังหวัดอื่นเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และเป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดทำแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ได้จัดทำโครงการ “พัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด วิเคราะห์มาตรการที่สามารถเป็นไปได้ในการลดก๊าซเรือนกระจก และร่วมกับคณะทำงานของจังหวัดในการจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัด รวมถึงจัดทำชุดข้อมูลก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ TGO ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน International Climate Initiative (IK) กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ภายใต้ชื่อโครงการ “นำร่องเพื่อพัฒนากิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง โดยใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจ” ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการพัฒนาข้อเสนอโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยใช้กลไกตลาดภายใต้บริบทความตกลงปารีส ข้อที่ – ในระดับเมือง ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความครอบคลุมในทุกภาคส่วนของจังหวัด ยกระดับ (Scale-up) การจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนประเทศไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกและการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในร่างแผนฯ ฉบับที่ 13 ที่มีเป้าหมายหลักในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยมีตัวชี้วัดที่เน้นให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ซึ่งอยู่ในหมุดหมายที่ 10 ในเรื่องไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย โดยองค์การฯ จะช่วยประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัด และร่วมกับจังหวัดจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกตามบริบทของจังหวัดพร้อมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อช่วยในการจัดเก็บและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัดแบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า CCF Platform เพื่อให้จังหวัดสามารถเข้ามากรอกข้อมูลและจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของจังหวัด ผ่านทางระบบออนไลน์ได้ง่ายและต่อเนื่องทุกปี อันจะเป็นประโยชน์และช่วยสนับสนุนการจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัด ช่วยสนับสนุนการปรับปรุงแผนและตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัดให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่