นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า การดำเนินการปีงบประมาณ 2566 ยังเน้นเรื่องการสร้างรายได้และเพิ่มพันธมิตรในการขยายธุรกิจ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ได้มีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง มุ่งเพิ่มศักยภาพการทำงานและรายได้ยั่งยืน อาทิ ปรับปรุงหลังคาและขยายพื้นที่ให้เช่าคลังสินค้าธนบุรีใหม่ ขุดลอกท่าเทียบเรือเพื่อให้เรือใหญ่เข้ามาขนส่งสินค้าได้สะดวกขึ้น ทำให้ อคส. มีรายได้จากค่าเช่าปี 2565 อยู่ที่ 72.3 ล้านบาทสูงสุดรอบ 30 ปี หากรวมรายได้จากโครงการอื่น จะมีกำไรขั้นต้นถึง 81.5 ล้านบาทสูงสุดรอบ 20 ปี แต่ภาพรวมปี 2565 อคส. ยังขาดทุน 120 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเพิ่มการใช้ประโยชน์คลังสินค้า อคส.ทั่วประเทศ อาทิ ใช้คลังสินค้าอุทยานวิทยาศาสตร์วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นโรงงานผลิตสารสกัดจากกระท่อม คลังสินค้าลพบุรี คลังมหาสารคาม คลังสุรินทร์ คลังกระบี่ และคลังนราธิวาส ใช้เป็นคลังเก็บสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงเพิ่มสาขาคลังในต่างประเทศคู่ขนานกับไทย ที่ลงนามแล้ว คือ ที่ทวาย (เมียนมา) และ หนานซา (จีน)
ในส่วนการเพิ่มรายได้อื่นๆ อาทิ ผลักดันใช้เทคโนโลยีและลงทุนด้านต่างๆ เช่น ทำเครื่องคัดแยกชนิดปลาโดยใช้ AI ลงทุนสายพานลำเลียงปลาทูน่า ทำ Pallet จากกากมะพร้าว ลงทุนผลิตสารสกัดจากกระท่อม ทำปุ๋ยไนโตรเจนจากน้ำแป้ง การขายข้าวชนิดพิเศษภายใต้โครงการ “ข้าวพูดได้” โดยสามารถสแกน QR Code เพื่อฟังรายละเอียดของข้าวแต่ละชนิดได้
“อีกโครงการ “ผ่านตั๋ว” ที่ อคส. จะทำหน้าที่เหมือนสถาบันการเงินในการออกแบงก์การันตีให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเตรียมวงเงินไว้ 1,000 ล้านบาท ในการให้บริการผู้ประกอบการค้าส่ง ตั้งเป้าไว้ประมาณ 400 ราย ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 6% ต่อปี หรือวงเงิน 60 ล้านบาท/ปี หากรวมกับรายได้ค่าเช่าคลังสินค้าที่ได้เพิ่มพื้นที่ จำนวนลูกค้า และเพิ่มอัตราเช่าอีก 5 บาท/ตารางเมตร เริ่มตุลาคมนี้ ปรับราคาในรอบ 5 ปี ก็จะทำให้ อคส.มีรายได้จากคลังเกิน 100 ล้านบาทภายใน 2 ปีจากนี้ รวมกับรายได้อื่นๆ เมื่อหักค่าใช้จ่ายประจำจะทำให้ อคส.มีกำไรครั้งแรกในปี 2567 หลังจากมีขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ปี 2557″ นายเกรียงศักดิ์กล่าว
นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับงานสะสาง ได้ระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลหมด ล็อตสุดท้าย เป็นข้าวนอกบัญชีปี 2548/49 และได้ฟ้องดำเนินคดีผู้กระทำการทุจริตแล้ว 1,179 คดี มูลค่าความเสียหาย 503,590 ล้านบาท ระบายมันสำปะหลังได้หมด และฟ้องดำเนินคดี 166 คดี ความเสียหาย 20,065 ล้านบาท ส่วนข้าวโพด ก็ระบายหมดทุกคลัง ฟ้องร้องดำเนินคดี 4 คดี ความเสียหาย 1,072 ล้านบาท ส่วนโครงการทุจริตถุงมือยาง ได้ดำเนินการอายัดเงิน 2,000 ล้านภายใน 50 วัน และมีการดำเนินการต่อโดยไล่ออกผู้กระทำความผิด และขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช.
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่