วันที่ 28 มกราคม 2564 พ.ต.ท. ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ กระบี่ เปิดจวนชวนปลูกผัก ทำปุ๋ยหมักจากขยะเปียก ระยะที่ 2” โดยบูรณาการความร่วมมือการขับเคลื่อนโครงการ “พัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน” โครงการ “ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” และโครงการ “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” ซี่งมีวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในระดับครอบครัวและชุมชน มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองและความสามัคคีในชุมชน เพื่อให้รอดพ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยแนวทาง จะพัฒนาใครต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ผู้นำต้องทำก่อน ผนึกกำลังทั้งระบบให้ครบวงจร ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน สร้างเครือข่ายขยายผล รวมทั้งเชิดชูเกียรติอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) ต้นแบบดีเด่น เนื่องในวาระ “ครบรอบปีที่ 52 โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน” ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ โดยมีนายสงัด พืชพันธุ์ พัฒนาการจังหวัดกระบี่ กล่าวรายงาน และมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดกระบี่ ประธานชมรมผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดกระบี่ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดกระบี่ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดกระบี่ ผู้แทนอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก และภาคประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
พ.ต.ท. ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรงอยู่ทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตมากมาย ในเวลานี้ ได้สร้างแรงกดดันต่อด้านอาหารและการเกษตรในหลายมิติ ผลกระทบที่เกิดจากความตื่นตระหนก ทำให้เกิดการสะสมเสบียงและกักตุนอาหาร เกิดวิกฤตอาหารแพงกินเวลายาวนานมากน้อยเพียงใดยังคาดเดาได้ลำบาก
วิกฤตอาหารโลกครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญของโลก ทำให้มีปริมาณอาหารเพียงพอบริโภคในประเทศ และมีโอกาสสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าอาหาร ประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก ในอนาคตนับวันอาหารจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยควรจะเน้นจุดแข็งของความเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับด้านเกษตรในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักตามศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการนำแนวทางมาประยุกต์ให้ง่ายต่อการปฏิบัติ ที่เรียกว่า “โคก หนอง นา โมเดล” มีการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง โดยเฉพาะพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ ก็เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น ทำให้มีความมั่นคงทางอาหาร มีการผลิต การแบ่งปัน แลกเปลี่ยน ซึ่งหมายถึงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชผักด้วย เหลือกิน เหลือใช้ก็ขายเป็นรายได้
ขอให้ทุกภาคส่วน ได้ช่วยกันป้องกัน ดูแล ระงับยับยั้ง ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปโดยเร็วไว และช่วยกันรณรงค์ ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนหันมาสนใจปลูกต้นไม้ ปลูกพืชผักสวนครัวให้ครบทุกครัวเรือน หรืออย่างน้อยร้อยละ 90 ของครัวเรือนทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจ ในการอยู่ การกิน การใช้ ให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร และเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดศาสตร์พระราชา ต่อไป