แพทย์เตือนประชาชนอย่าตระหนก หลังมีข่าวเด็กหายป่วยโควิด-19 เสียชีวิตจากกลุ่มอาการ “มิสซี (MIS-C)” ชี้โอกาสเกิดน้อย รักษาหายได้
จากกรณีโรงพยาบาลกระบี่ ชี้แจงเคสเด็กชายวัย 13 ปี เสียชีวิต เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ว่าอาจเกิดจากภาวะอาการ “มิสซี” นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญเพื่อคลายข้อสงสัยและความกังวลเกี่ยวกับอาการดังกล่าว
นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ข้อมูลว่า “กลุ่มอาการมิสซี (MIS-C)” นี้ ย่อมาจาก “Multisystem Inflammatory Syndrome” คือกลุ่มอาการที่เกิดการอักเสบในระบบร่างกายหลายระบบ ส่วน C มาจาก Children หรือเด็ก
ด.ช.13 ปีดับ ไม่ได้ติดโควิด 2 รอบ หมอชี้ภาวะ “มิสซี” ร่างกายอักเสบรุนแรงในเด็ก หลังหายจากโควิด
“หมอเด็ก”ห่วงพบโรคMis-cในเด็กหลังป่วยโควิด-19
นพ.พงศกรบอกว่า ส่วนใหญ่มิสซีมีโอกาสพบได้น้อยมาก ไม่ได้พบบ่อย โอกาสเกิดเพียงไม่ถึง 1% ในเด็ก 100,000 อาจพบ 1-2 คน ซึ่งแต่ละประเทศตัวเลขการพบก็ไม่เท่ากัน ประเทศเราก็ไม่เคยเจอจนเคสล่าสุดที่ จ.กระบี่
มิสซีเกิดจากอะไร?
“การเกิดมิสซีส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะโควิด-19 โดยร่างกายเมื่อติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อโรค แต่บางครั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจมีความสับสน แทนที่จะทำลายเชื้อโรคอย่างเดียว ก็ไปมีปฏิกิริยากับเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายด้วย ทำให้เกิดการอักเสบหลายระบบพร้อมกัน” นพ.พงศกรกล่าว
เขาเสริมว่า กลุ่มอาการมิสซีคือเหมือนร่างกายเราสร้างกองทหารขึ้นมาเพื่อต้องการสู้กับไวรัส แต่แล้วทหารทำงานสับสน แทนที่จะสู้กับไวรัส ก็มาสู้กับเซลล์ร่างกายตัวเองแทน
แต่ในประเด็นที่ว่าสาเหตุแท้จริงเป็นอย่างไรนั้น ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) บอกว่า ไม่รู้จริง ๆ ว่ามิสซีเกิดจากอะไรกันแน่ แต่น่าจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
อาการเป็นอย่างไร? รักษาหายได้หรือไม่?
“สิ่งหนึ่งที่เรียนประชาชนไม่ให้ต้องกังวลคือ กลุ่มอาการมิสซีไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกราย โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และหากแสดงอาการแล้วนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ก็จะรักษาชีวิตไว้ได้” นพ.พงศกรกล่าว
โดยเด็กที่จะเกิดกลุ่มอาการมิสซีส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นพร้อมโควิด-19 อาจหลังติดโควิด-19 ระยะหนึ่ง หรือเริ่มหาย หรือหายแล้ว
เนื่องจากมันเป็นการอักเสบในอวัยวะหลายระบบ ดังนั้นจะมีอาการแสดงจากหลายระบบร่วมกัน เช่น ปวดท้อง ตาแดง อาเจียน ท้องเสีย แน่นหน้าอก ปวดหัว เหนื่อยง่าย อาจจะมีไข้ บางคนมีผื่น ความดันเลือดต่ำ ขึ้นอยู่กับว่าระบบใดเกิดการอักเสบ
โดยมิสซีสามารถเกิดได้หมดในทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท ระบบผิวหนัง ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดที่ระบบใดระบบหนึ่งหรือจะเกิดที่ระบบใดก่อนหลัง แต่หากมีอาการหลายระบบร่วมกัน เช่น ปวดหัว ผื่นขึ้น ท้องเสีย และมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 ให้ต้องสงสัยไว้ก่อนว่า อาจเกิดกลุ่มอากามิสซี
“มิสซีนี้ถ้าทราบเร็ว ก็สามารถรักษาและหายดีได้ แต่ถ้ารายที่รุนแรง มีภาวะเสี่ยง เช่น อ้วน เบาหวาน ก็อาจมีอาการรุนแรงกว่าปกติ … อยู่ดี ๆ มิสซีจะไม่เกิดขึ้นเอง จะต้องมีการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อน ผู้ปกครองที่มีเด็กป่วยโควิด-19 หายแล้ว แล้วพบว่ามีอาการผิดปกติหลายระบบ ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์” นพ.พงศกรบอก
ในส่วนของการรักษานั้น นพ.พงศกรเตือนว่า อย่ากินยารักษาเอง อาจเป็นอันตราย ให้อยู่ในขั้นตอนการดูแลของแพทย์ ว่าลักษณะอาการประมาณนี้ควรใช้ยาในกลุ่มไหน
“การรักษามิสซีมีหลายวิธี อาจจะให้ยากดภูมิคุ้มกัน ให้ยาสเตียรอยด์ รักษาตามอาการของอวัยวะนั้น ๆ เช่น ระบบหายใจอาจจะต้องให้ออกซิเจน ท้องเสียให้น้ำเกลือทดแทน เป็นต้น”
ทั้งนี้ นพ.พงศกรย้ำว่า หากมีเพียงอาการใดอาการหนึ่ง เช่น ปวดหัวอย่างเดียว ท้องเสียอย่างเดียว ให้ดูให้แน่ใจว่าเกิดจากอะไร เพราะอาจจะไม่เกี่ยวกับมิสซี เด็กที่ปวดหัวอาจจะเครียด กังวล ใช้สายตามาก ถ้าสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหลายระบบจึงควรไปพบแพทย์
“อย่าเพิ่งตกใจถ้าเด็กมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 แล้ววันดีคืนดีปวดหัวขึ้นมา ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นมิสซี ย้ำว่าสถิติการเกิดมิสซีน้อยมาก” นพ.พงศกรกล่าว
สำหรับ CDC ได้กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยกลุ่มอาการมิสซีไว้ดังนี้
- อายุต่ำกว่า 21 ปี
- ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
- ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบการอักเสบ
- มีอาการรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 2 ระบบ ได้แก่ ระบบหัวใจ ไต ทางเดินหายใจ เลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง หรือระบบประสาท
- ไม่มีการวินิจฉัยอื่นที่เป็นไปได้
- ติดเชื้อ หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ก่อนมีอาการ
จะป้องกันการเกิดมิสซีได้อย่างไร?
เนื่องจากยังไม่มีใครทราบว่ามิสซีเกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ ทราบแต่เพียงว่ามีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับการติดเชื้อโควิด-19 นพ.พงศกรจึงแนะนำว่า “ต้องย้อนไปที่สาเหตุ เพราะมิสซีเกิดขึ้นหลังติดโควิด-19 ดังนั้นจะป้องกันมิสซีก็ต้องป้องกันโควิด-19 ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการทางสังคมต่าง ๆ เว้นระยะ ใส่หน้ากาก ล้างมือ แม้ว่าเด็กจะฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็ตาม”
นอกจากนี้ ในผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 อาจเกิดภาวะ MIS-A (A จาก Adults) ซึ่งจะมีอาการในหลายระบบเหมือนกัน แต่มีรายงานการพบน้อยมาก เปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงกับที่พบในเด็ก
วัคซีนโควิด-19 มีผลกับการเกิด/ไม่เกิดกลุ่มอาการมิสซีหรือไม่?
นพ.พงศกรกล่าวชัดเจนว่า ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ทำให้เกิดหรือมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดกลุ่มอาการมิสซี
มิสซีจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายระดมสรรพกำลังภูมิต้านทานในการต่อสู่กับไวรัส แต่วัคซีนเป็นการกระตุ้นอ่อน ๆ ให้ร่างกายจดจำไวรัส เป็นคนละเรื่องกัน และการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนก็ไม่มีผลกับการเกิดมิสซี
ส่วนผู้ที่ป่วยน้อยมากโอกาสเกิดมิสซีก็ไม่ต่างกัน ป่วยน้อยก็พบ ป่วยมากก็พบ CDC ใช้คำว่า สาเหตุของมิสซียังเป็นปริศนา ไม่ทราบว่าอะไรทำให้เกิดมิสซี
วอนประชาชนอย่าตระหนก เพราะมิสซีมีโอกาสเกิดน้อย และรักษาหายได้
นพ.พงศกรเล่าว่า มิสซีเคยมีเคสเกิดขึ้นมาก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด พวกไวรัสที่กระตุ้นภูมิอย่างรุนแรงสามารถทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้ได้ แต่ก็ไม่มาก แต่กับโควิด-19 เหมือนจะมีความสัมพันธ์กับมิสซีมากเป็นพิเศษซึ่งยังอยู่ระหว่างการหาคำตอบ
“มิสซีเป็นเหมือนหลุมดำในอวกาศ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่จะระบุได้ว่าเกิดจากอะไรที่แน่นอน” นพ.พงศกรกล่าว
มิสซีจะเกิดได้ก็ต้องหลังติดเชื้อโควิด-19 ถ้ากังวล ก็ต้องป้องกันอย่าให้ติดโควิด-19 ไม่ติดโควิด-19 มิสซีก็ไม่เกิด แต่ถ้าเคยติดเชื้อ ก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป เพราะอัตราการเกิดน้อย แต่ถ้ามีอาการอักเสบหลายระบบเมื่อไรให้รีบไปหาแพทย์โดยเร็วที่สุดจะดีที่สุด
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline