ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของอาสากู้ภัยที่นี่ คือ การออกไปจับงู
โดยเฉพาะงูจงอาง ที่ชาวใต้เรียกว่า “บองหลา” ช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงมีนาคม มันจะออกจากป่ามาตามหาคู่ผสมพันธุ์ โดยการตามกลิ่น หรือ ฟีโรโมน ที่ตัวเมียปล่อยล่องลอยไปในอากาศ
จงอางเป็นงูขนาดใหญ่ ใหญ่ที่สุดในหมวดหมู่งูพิษ เป็นงูกินงู ดุร้าย แต่จงอางไม่ได้ปราดเปรียว การจับจึงไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ผู้จับต้องมีประสบการณ์ ผ่านการเรียนรู้ฝึกฝนมาพอสมควร
การถูกจงอางฉกกัดซึ่งหน้า สำหรับกู้ภัยที่มีประสบการณ์ แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่การถูก “เขี้ยว” หรือถูก “พิษงู” นั้น มีความเป็นไปได้อย่างมาก
ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิกระบี่พิทักษ์ประชา ได้รับแจ้งให้ออกไปช่วยจับงูในแคมป์ที่พักคนงาน
ผู้ที่ออกไปในวันนั้น คือ นายวีระพันธ์ สว่างแสง อายุ 57 ปี ไปพร้อม นายลายคราม สว่างแสง ลูกชาย และกู้ภัยอีก 2 คน เผชิญหน้างูจงอางตัวยาวกว่า 4 เมตร ลำตัวอวบอ้วน
รู้ได้ทันทีว่า งูตัวนี้มีพละกำลังมาก และดุร้าย ก้าวร้าว เพราะมันกำลังมุ่งมั่นตามหาตัวเมีย ไม่ต้องการให้ใครมาขวางทาง
นายลายคราม สว่างแสง ลูกชาย เล่าว่า พ่อซึ่งมีประสบการณ์มากที่สุด เป็นคนที่เข้าจับคว้าคอ แต่งูจงอางดิ้นสู้อย่างสุดแรง
หลังจากจับงูได้แล้ว พ่อนำงูใส่ลงไปในกระสอบที่ใช้ใส่งู ซึ่งงูพยายามดิ้นขัดขืนตลอด
และเพราะเป็นงูขนาดใหญ่ มีกำลังมาก จังหวะที่พ่อกำลังสลับมือเพื่อจะจับส่วนหัว จะนำมือออกจากกระสอบ ปรากฏว่างูสะบัดหัวหลุดและพยายามฉกเข้าที่มือ แต่พ่อรีบดึงมือออก ทำให้ไม่ถูกฉกแบบเต็มๆ แต่ถูกเขี้ยวแบบถากๆ ที่ใกล้ข้อมือ
“ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะอันตราย แต่ระหว่างกำลังนั่งรถกลับเข้ามาที่ศูนย์กู้ภัย ปรากฏว่าพ่อเริ่มมีอาการสะลึมสะลือ เริ่มไม่ได้สติ การเต้นของหัวใจ ชีพจรเริ่มตก จึงรีบพาตัวพ่อไปส่ง รพ.กระบี่ ทันที เชื่อว่าเป็นการถูกพิษงูแน่นอน ซึ่งอาการตอนแรกถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะพิษเข้าสู่กระแสเลือด แขนเริ่มเป็นสีดำ เส้นเลือดที่แขนเป็นสีดำ แต่ทีมแพทย์ รพ.กระบี่ ช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ตอนนี้อาการอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว”
ที่ตึก 66 ปี รพ.กระบี่ ที่พักรักษาตัวของ นายวีระพันธ์ แสงสว่าง “หมองู” ที่เกือบตายเพราะงู
หลังผ่านไป 3 วัน พบว่าอาการเริ่มดีขึ้น แต่แขนขวาที่ถูกเขี้ยวของงูจงอาง บริเวณใกล้ข้อมือ ยังมีอาการบวมเป่งทั้งแขน แพทย์ต้องผ่าตัดเปิดแผลเพื่อทำความสะอาด ไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และกำจัดพิษที่ปนอยู่ในเลือดออกมา
ตัวของ นายวีระพันธ์ อยู่ในอาการอ่อนเพลีย ยังไม่พร้อมจะพูดคุย ซึ่งแพทย์จะต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อรักษาบาดแผล
ส่วนบาดแผลจากการถูกคมเขี้ยวงู ถากเข้าบริเวณข้อมือ เป็นแผลเล็กคล้ายรอยถลอก ยาวไม่ถึง 1 เซนติเมตร แต่ใกล้กันมีรอยคล้ายรูเขี้ยวอยู่ 1 รู คาดว่าเป็นเหตุให้พิษแล่นเข้าสู่กระแสเลือด
โชคดีที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เพราะพิษของงูจงอาง เป็นที่รู้กันว่า เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
นายเกียรติกมล กังแฮ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติงานทุกคน ต้องจำไว้และระมัดระวัง
“ในการออกปฏิบัติหน้าที่จับสัตว์มีพิษ ต้องระมัดระวังตลอดเวลา โดยเฉพาะสัตว์มีพิษจำพวกงู ที่มีพิษค่อนข้างรุนแรง แม้แต่ผู้ที่ผ่านการฝึกฝนในเรื่องการจับงูพิษมาแล้วอย่างเจ้าหน้าที่รายนี้ ยังมีโอกาสพลาดได้ และที่สำคัญอยากเตือนประชาชนทั่วไป ให้คอยระมัดระวัง หากพบเห็นงูพิษ หรือสัตว์มีพิษ อย่าได้เข้าใกล้อย่างเด็ดขาด ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญมาช่วยจับให้ หรือหากประชาชนคนใด ถูกงูพิษฉกกัด ขอให้รีบนำตัวส่ง รพ.อย่างเร็วที่สุด”
ที่สำคัญ ต้องมีสติ อย่าตื่นตกใจเพราะจะเป็นการไปกระตุ้นให้เลือดสูบฉีด ทำให้พิษแล่นเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น
อีกอย่างที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือ ต้องจดจำงูพิษที่ฉกกัดเราให้ดีว่าเป็นงูอะไร หากไม่รู้จัก ให้จดจำลักษณะเด่นของงูไว้ แล้วแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลรู้ จะเป็นการรักษาได้อย่างถูกต้องตรงจุด
ขณะที่ นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.รพ.กระบี่ กล่าวว่า กรณีเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ถูกเขี้ยวของงูจงอางแค่ถากๆ บริเวณผิวหนัง แล้วพิษเข้าสู่กระแสเลือดนั้น
กรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะได้รับพิษ เพราะเท่าที่เคยทราบข้อมูลมา พิษงูทั้งงูเห่า งูจงอาง งูกะปะ หากผู้ที่สัมผัสน้ำพิษ มีบาดแผลเพียงเล็กน้อย พิษก็สามารถซึมเข้ากระแสเลือดได้
อย่างงูเห่าพ่นพิษก็มีให้เห็น แม้ตัวงูจะไม่ได้ฉกกัดโดยตรง แต่น้ำพิษสามารถเข้าสู่บาดแผลบนร่างกายได้ บางรายอาจจะมองว่าเป็นบาดแผลเพียงเล็กน้อย
“แต่นอกจากพิษจากน้ำพิษโดยตรงแล้ว ยังมีในเรื่องของแบคทีเรีย ความสกปรกจากเขี้ยวของสัตว์ ที่อาจจะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ไม่อยากให้ประมาท หากสัมผัสพิษงู หรือพิษของสัตว์ทุกชนิด ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที และที่สำคัญต้องจดจำลักษณะ หรือชนิดของงูที่กัดเราได้ เพื่อแพทย์ทำการรักษาได้ตรงจุดในทันที”
สำหรับ รพ.กระบี่ ได้ซื้อเซรุ่มสำหรับรักษาผู้ถูกงูกัดสำรองไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ที่จะพบเห็นงูจงอางได้มาก เพราะเป็นฤดูผสมพันธุ์ของงูชนิดนี้ และเป็นช่วงแหล่งน้ำในธรรมชาติแห้ง งูจะเข้ามาในแหล่งชุมชนเพื่อหาแหล่งน้ำ หากใครพบเห็นไม่อยากให้เข้าใกล้ พยายามแจ้งให้ผู้ที่มีความชำนาญมาช่วยจับให้จะดีที่สุด
“อย่างกรณีที่เกิดขึ้น แม้แต่ผู้ที่มีความชำนาญ ก็ยังมีโอกาสพลาดได้” ผอ.รพ.กระบี่ กล่าวเตือน
จากภาคใต้ ย้ายมาภาคตะวันออก จ.จันทบุรี ที่นี่มีหมองูฝีมือดี..
สิบเอก ณัฐพล เสืองาม หรือ นัท อายุ 31 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจับงู จากเพจ อาสาพิทักษ์งูเมืองจันท์ ให้ข้อมูลถึงกรณีดังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ถูกงูกัด แม้จะเพียงแค่เฉี่ยวหรือแค่ถาก แล้วพิษเข้าสู่กระแสเลือด
แต่โอกาสน้อยมากที่จะทำให้ถึงตาย..
“ต้องขึ้นอยู่กับว่าถูกกัดในลักษณะแบบใด เป็นรอยแค่ถลอกไม่ถึงกับเลือดออก ถูกกัดแบบเฉี่ยวผิวหนัง แต่เลือดออกจากคมเขี้ยว ถูกกัดแบบจมเขี้ยว ซึ่งแบบแรกหากแค่ถลอกไม่ถึงกับเลือดออก น้ำพิษของงูที่ติดอยู่ที่เขี้ยว ก็จะไม่ทันเข้ากระแสเลือด แต่หากเป็น 2 แบบหลัง ก็มีโอกาสที่จะทำให้ตายได้”
ส่วนจะรอดหรือไม่รอด ปัจจัยหลักๆ ก็คือ 1. การปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ถูกหลัก ยังจุดเกิดเหตุ ซึ่งกรณีถูกงูกัด หากเป็นไปได้ต้องทราบประเภทของงู และจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับระยะเวลาที่จำกัด ตลอดจนระยะทางการเคลื่อนย้ายจนไปถึงโรงพยาบาล
2. ภาวะของผู้ถูกงูกัด มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น ก็จะมีผลต่อร่างกายทันที ไม่ว่าจะฉีดเซรุ่มหรือไม่ก็ตาม
สำหรับการปฐมพยาบาล หากถูกงูกัด สิบเอก ณัฐพล แนะนำว่า
อันดับแรก ตั้งสติให้ดีก่อน หากมีโทรศัพท์มือถือให้พยายามถ่ายรูปงูเอาไว้ให้ได้ แต่หากไม่มีโทรศัพท์ให้ทำการจดจำลักษณะของงูให้ได้
จากนั้นโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ แต่ต้องพยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด
ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำที่สะอาดทันที
ไป รพ.ใกล้เคียงให้เร็วที่สุด พร้อมกับบอกข้อมูลรายละเอียดให้ทีมแพทย์ทราบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกงูกัด ไม่ควรนิ่งเฉย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะไม่ใช่เฉพาะพิษงูเท่านั้นที่อันตราย
คมเขี้ยวของงูแต่ละประเภท ยังมีเชื้อโรคหลายชนิดติดอยู่ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
เรื่อง/ภาพ: วิสุทธิ์ รองพล,ศุภชัย จุลละนันทน์