ยกวงซิมโฟนีไปแสดงเพลงรองเง็งที่กระบี่
บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน
ผมได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาเรื่อง “พื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีในชุมชน” ต่อมาได้รับทุนวิจัยเพื่อขยายผล “ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกของชาติ” โดยศึกษาวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านในท้องถิ่น 7 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ พื้นที่ล้านนา ภูไท ลาว เขมร สุพรรณภูมิ ศรีวิชัย และปัตตานี ได้ทำงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563
การต่อยอดเพลงภาคใต้ คือการนำเพลงรองเง็งไปเล่นโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Thai Symphony Orchestra) แล้วนำไปแสดงในท้องถิ่น โดยเลือกแสดงที่ร้านอาหารเรือนไม้ จ.กระบี่ วันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 18.00-19.30 น. ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งในครั้งแรกได้แสดงที่วัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อตรุษจีนที่ผ่านมา
มีคำถามว่า ทำไมจึงเลือกแสดงที่ร้านอาหารเรือนไม้ ใช้เป็นสถานที่แสดงวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า ทำไมไม่เลือกลานศิลปะที่ชายทะเล ทำไม่เลือกหอประชุมจังหวัด ทำไมไม่ใช้ห้องประชุมจัดเลี้ยงของโรงแรมหรู หรือที่สถานที่ราชการ เป็นต้น เพราะกระบี่ไม่มีหอแสดงดนตรีที่สามารถเก็บเสียงได้ กระบี่ไม่มีสถานที่แสดงดนตรีเพื่อการฟัง กระบี่มีป่าเขาและทะเลสวยงามตามธรรมชาติ คนไปกระบี่เพื่อฟังเสียงคลื่น ฟังเสียงลม ฟังเสียงนกร้องมากกว่า จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่เงียบสงบเพียงพอที่จะนั่งฟังเพลงบรรเลงได้
ร้านอาหารเรือนไม้ เป็นร้านอาหารพื้นเมืองของกระบี่ เจ้าของคือ คุณอมฤต ศิริพรจุฑากุล ซึ่งคนทั่วไปรู้จักเรียกกันว่า “โกเลี้ยง” เป็นผู้มีใจกว้างขวาง รักงานศิลปะดนตรี และเป็นคนที่มีจิตใจดี เป็นบุคคลสำคัญของกระบี่ มีความรักบ้านเกิดและพยายามสร้างบรรยากาศของศิลปวัฒนธรรมให้เกิดในเมืองกระบี่ ที่สำคัญคือได้ทำร้านอาหารเรือนไม้ ในบรรยากาศน่าเกรงใจ สะกดให้ผู้ที่เข้าไปในร้านรู้สึกสงบ ได้บรรยากาศใหม่แบบธรรมชาติ
อาศัยความรักในธรรมชาติและทำเลพื้นถิ่นที่สวยงามทำร้านอาหารเรือนไม้จนเป็นที่รู้จัก มีธรรมชาติเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศ มีน้ำใสใบไม้เขียว ผนวกกับสถาปัตยกรรมที่ใช้ไม้ไผ่มุงใบจาก สร้างโดยลายมือของสถาปนิกในท้องถิ่น ทำให้เสียงไม่ก้องและเป็นธรรมชาติ ร้านอาหารเรือนไม้มีเสน่ห์เพราะมีอาหารสุขภาพ ปลอดสารพิษ รสชาติอร่อย ถูกปาก ใครได้กินแล้วจะติดใจ
ร้านอาหารเรือนไม้ กลายเป็นร้านอาหารพื้นเมืองที่นิยมใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของกระบี่ไปโดยปริยาย ใครไปใครมากระบี่ก็จะเลี้ยงอาหารที่ร้านอาหารเรือนไม้ เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และอยู่ใจกลางเมือง ขณะเดียวกันก็มีที่จอดรถเพียงพอ เมื่อจัดการแสดงที่ร้านอาหารเรือนไม้ จึงไม่ต้องลงทุนโฆษณา เพราะเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว
ในขณะที่เมืองกระบี่ไม่มีหอแสดงดนตรี ไม่มีหอศิลปวัฒนธรรม ซึ่งยากที่จะจัดแสดงดนตรีในรูปแบบของวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า พื้นที่สวยงามชายทะเลก็แลดูเวิ้งว้างเกินกว่าที่จะควบคุมเสียง ซึ่งแตกต่างไปจากการจัดแสดงดนตรีสมัยนิยม ส่วนใหญ่นิยมจัดที่ลานงานศิลปะมาก่อน เงื่อนไขสำคัญสำหรับวงออร์เคสตร้า คือ การรักษาและการควบคุมเสียง ต้องการความสงบ เมื่อลมพัดแรง มีบรรยากาศของความวุ่นวาย ก็จะทำลายสมาธิของผู้ฟังไปสิ้น เมื่อคุมสมาธิไม่ได้ ก็ควบคุมเสียงไม่ได้ เมื่อควบคุมเสียงไม่ได้ ก็จะควบคุมสมาธิไม่ได้ด้วย
แต่ก่อนมีความรู้เรื่องเพลงรองเง็งว่าคือดนตรีเฉพาะกลุ่มของปัตตานี ซึ่งมีปัตตานี ยะลา และนราธิวาสเท่านั้น ไม่เคยคิดว่าจะมีดนตรีรองเง็งในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะรองเง็งในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันมีความหลากหลาย เป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานกับชุมชนในท้องถิ่นมาก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ดนตรีรองเง็งฝั่งทะเลอันดามันได้กลายพันธุ์ สมสู่กับดนตรีของท้องถิ่นอย่างน่าสนใจยิ่ง
เมื่อไปที่กระบี่ได้พบกับ “เมืองหลวงของรองเง็งอยู่ที่เกาะลันตา” มีการนำเพลงของรองเง็งมาพัฒนาให้เป็นเพลงสมัยนิยมที่หลากหลาย ได้พบกับกวีคนสำคัญ เจ้าของเพลงนกสีเหลืองและเพลงบูบู ซึ่งเป็นบทเพลงแห่งทะเลอันดามัน กลายเป็นว่า ฝั่งอันดามันมีความร่ำรวยเรื่องดนตรีมาก
เพลงนกสีเหลือง คำร้องและทำนอง โดย วินัย อุกฤษณ์เพลงนกสีเหลืองเป็นเพลงที่เขียนขึ้นเพื่อไว้อาลัยวีรชนและเชิดชูจิตวิญญาณประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความสะเทือนใจที่ได้รับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ผู้แต่งล้มป่วย เข้าโรงพยาบาลอยู่เดือนเศษ แล้วได้กลับไปพักฟื้นที่บ้านเกิด กระบี่ ซึ่งช่วงนี้เองเป็นเวลาที่ได้แต่งเพลงนกสีเหลือง ขณะที่ล่องในแม่น้ำที่กระบี่ ยามค่ำคืนในเรือพายลำน้อย นั่งอยู่กับเพื่อน มีกีตาร์โปร่งหนึ่งตัว เมื่อย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ “14 ตุลา” จึงมีเพลงนกสีเหลือง
บทเพลงเริ่มด้วยเสียงฮัมของความเศร้า คล้ายเสียงเห่กล่อมเพื่อปลอบประโลม จากนั้นจึงเริ่มเนื้อเพลงด้วยถ้อยคำเชิงกวีและความอาลัยต่อวีรชนผู้จากไป กลางเพลงจะมีช่วงหยุด เพื่อกล่าวถ้อยคำไว้อาลัย แล้วจึงย้อนกลับมาส่งท้าย “จงบินไปเถิดคนกล้า ความฝันสูงค่ากว่าใด เจ้าบินไปจากรวงรัง ข้างหลังเขายังอาลัย”
ผู้แต่งไม่ใช่นักร้องหรือนักดนตรี แต่เป็นกวีร่วมสมัย บทเพลงนี้จึงเป็นที่รู้จักในฐานะงานกวีนิพนธ์ด้วย
บทเพลงนกสีเหลืองได้นำออกแสดงครั้งแรกโดยวงคาราวาน ในงานรำลึกครบหนึ่งปี “14 ตุลา” ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังอย่างมาก เพลงได้กลายมาเป็นเพลงสัญลักษณ์ของ “14 ตุลา” ตั้งแต่นั้นวงดนตรีเพื่อชีวิตนิยมนำเพลงนี้ไปแสดงเสมอๆ ต่อมา เพ็ญศรี พุ่มชูศรี นักร้องซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2534) ชื่นชอบเพลงนี้มาก เธอได้นำเพลงนกสีเหลืองไปขับร้องในงานรำลึก “14 ตุลา” ทุกครั้ง ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ.2550
เพลงบูบู หมายถึง ไซดักปลา คำร้องโดย วินัย อุกฤษณ์ทำนองดัดแปลงมาจากเพลงการักบุหงา (ร้อยดอกไม้) บูบู เป็นเพลงรักในลีลาของรองเง็ง (ส่วนหนึ่งของเพลงบุหงารำไป) ซึ่งเป็นดนตรีแห่งหมู่เกาะ รวมทั้งชายฝั่งทะเลอันดามัน ในสมัยก่อน หากได้ลงเรือท่องไปตามหมู่เกาะในถิ่นทะเลแถบทะเลอันดามัน จะได้พบกับชาวเล กลุ่มอูรักลาโว้ย หรือพวกยิปซีทะเล เป็นชนเผ่าผู้สัญจรในทะเล ขณะเดียวกันก็จะได้ยินเสียงดนตรีของพวกเขา เรียกกันว่า เพลงรองเง็งชาวเล คือเพลงของพวกชาวน้ำ
เมื่อครั้งวินัย อุกฤษณ์ (ผู้แต่งเพลงบูบู) ได้พาคนรักไปพำนักที่กระท่อมของชาวเล ริมหาดเกาะจำ อาศัยอยู่หลายวัน เจ้าของกระท่อมคือครอบครัววงรองเง็ง “อาหวังกัวลามูดา” ซึ่งเป็นนายซอ (ไวโอลิน) ยังมีแม่เฒ่า (ภรรยา) เป็นคนตีรำมะนา พร้อมกับการขับเพลงและร่ายรำทุกค่ำคืนที่ริมหาด จะได้ฟังเสียงซอและบทเพลงขับปันตุนซึ่งเป็นการขับเพลงภาษามลายู บางเพลงประทับใจมากจนจำเนื้อร้องเพลงปันตุนได้หมด หนึ่งในเพลงนั้น คือ “เพลงการักบุหงา” หรือเพลงร้อยดอกไม้
เมื่อผู้แต่งได้สร้างกระท่อมริมหาดที่ “เกาะบูบู” ของตัวเองเสร็จ ก็อยากชวนคนรักมาอยู่ด้วย เสียงเพลงการักบุหงาก็แว่วมาอีก จึงได้ดัดแปลงทำนองและเขียนคำร้องใหม่เป็นภาษาไทย ใช้ชื่อว่าเพลงบูบู หมายถึงไซดักปลา (เกาะบูบู) เกิดเป็นเพลงใหม่ขึ้น เสมือนบ่วงดักฝันที่เป็นจริง บูบูได้กลายพันธุ์จากเพลงรองเง็งเป็นเพลงรักของชาวเมือง โดยยังคงรักษาทำนองเพลงเอาไว้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นพัฒนาการใหม่ของรองเง็ง
เพลงบูบูได้นำออกแสดงครั้งแรกกับวงดนตรีท้องถิ่น (Sea Gypsy) โดยมีอาจารย์สมพร คงขึม เป็นผู้เล่นไวโอลิน แสดงที่หอประชุมโรงเรียนเมืองกระบี่ และได้บันทึกเสียงลงแผ่นซีดี (CD) ครั้งแรกกับวงบังคลาเทศ ขับร้องโดย ทองกราน ทานา จากวงคาราวาน
ในยุคทองของการท่องเที่ยว เพลงบูบูเป็นเพลงรองเง็งร่วมสมัยที่รู้จักแพร่หลายและนิยมเล่นกันในหมู่วงดนตรีรุ่นใหม่ทั่วถิ่นอันดามัน ด้วยลีลาแปลกแตกต่างจากเพลงอื่นๆ ต่อมาได้รวบรวมบันทึกเป็นแผ่นซีดี (CD) ชุดเพลงคลื่นขับขาน โดยวงวารี วายุ ซึ่งเป็นนามปากกาของวินัย อุกฤษณ์
สำหรับ วินัย อุกฤษณ์ ในฐานะนักเขียน ใช้นามปากกาว่า “วารี วายุ” บ้านเกิดอยู่ริมแม่น้ำกระบี่ พ่อเป็นชาวสวน แม่เป็นชาวเกาะ เรียนหนังสือชั้นต้นที่กระบี่ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่กรุงเทพฯ เข้าเรียนปริญญาตรีวารสารศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทำงานมีอาชีพด้านหนังสือ งานฝ่ายศิลป์จัดรูปเล่มหนังสือ สู่งานบรรณาธิการกับนิตยสารและงานหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
“ชมรมพระจันทร์เสี้ยว” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ศึกษาและเขียนบทกวีสมัยใหม่ต่อเนื่องมา ผลงานกวี 2 เล่ม คือ “นักฝันข้างถนน” และ “ทะเลรุ่มร้อน” ในนามปากกา “วารี วายุ” ได้เป็นใบเบิกทางจากยุคแสวงหาสู่ความเป็น “กวีร่วมสมัย”
เมื่อออกจากแวดวงหนังสือ ได้กลับบ้านไปอยู่ที่กระบี่ ที่เกาะลันตาน้อยและเกาะบูบู ใช้ชีวิตอยู่กับเรือทะเลและหมู่เกาะนานหลายปี จนเกิดภัยพิบัติสึนามิ (พ.ศ.2547) จึงกลับขึ้นฝั่งไปทำสวน อยู่ชานเมือง แล้วหันเหชีวิตมาสนใจงานด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น
นอกจากงานหนังสือและกวีนิพนธ์แล้ว “วารี วายุ” ยังเป็นมือสมัครเล่นในงานศิลปะด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ผลงานเพลง ภาพวาด บทภาพยนตร์ หนังสั้น สำหรับเพลงนกสีเหลืองกับเพลงบูบู จะเป็นเพลงแถมในรายการแสดงครั้งนี้ ซึ่งในรายการหลักเป็นเพลงรองเง็งฝั่งอันดามันทั้งหมด เป็นเสียงเพลงแห่งทะเลอันดามัน
ในการเดินทางไปแสดงครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่สำคัญ ภาคส่วนของรัฐตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในภาคส่วนของเอกชนมีร้านอาหารเรือนไม้ ที่พักปกาสัยรีสอร์ท สายการบินแอร์เอเชีย องค์กรอิสระสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ส่วนภาคที่เป็นฝั่งประชาชน ก็มีศิลปินวาดภาพ นักร้องนักดนตรี มูลนิธิกระบี่ยั่งยืน และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
บทเพลงแห่งทะเลอันดามัน เป็นการนำเสนอมิติใหม่ของเพลงพื้นบ้าน การได้มีโอกาสพบกับปราชญ์ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเขาเหล่านั้นอยู่ในที่มืดที่คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่เขามองเห็นในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็น เมื่อได้พบกับวิธีคิดและจินตนาการผ่านผลงานที่เป็นบทกวีและบทเพลง ทุกบทเพลงและทุกครั้งที่ได้ยิน ทำให้รู้สึกว่าเข็มขัดสั้นไป เพราะ “คาดไม่ถึง อึ้งและฉงน”
สุกรี เจริญสุข