“กระบี่” ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติปีละกว่า 120,000 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีส่งผลให้จังหวัดกระบี่ประสบปัญหาเรื่องการกำจัดขยะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
อีกทั้งมีขยะที่่กลบไว้มากกว่า 800,000 ตัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทางเทศบาลเมืองกระบี่ จึงได้ร่วมมือกับ “บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน)” หรือ ACE ตั้ง “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน”
“นายกีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน” นายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ เปิดเผยว่า จังหวัดกระบี่ประสบปัญหาขยะมานานกว่า 20 ปี ซึ่งที่ผ่านทางเทศบาลได้รับงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สมทบกับงบประมาณของเทศบาลกว่า 24 ล้านบาท
เพื่อซื้อที่ดิน 251 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ฝังกลบขยะ แต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากปริมาณขยะตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนตัน ทั้งนี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเข้ามาทำเตาเผาขยะให้ แต่ไม่สามารถดำเนินการกำจัดได้หมด
ประชาชนในชุมชนเริ่มบ่นเรื่องกลิ่นเหม็น แมลงวัน น้ำบ่อใต้ดินเสียหายไม่สามารถใช้ได้ จึงเกิดแนวคิดเรื่องวิธีการกำจัดขยะโดยการเผาขยะ แล้วนำพลังงานมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าอย่างที่หลายแห่งทำกัน ทางเทศบาลจึงจัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน
เพื่อหาบริษัทมาร่วมทุนกับเทศบาลเมืองกระบี่ และได้นำเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง ในที่สุดได้คัดเลือกบริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือบริษัท ACE มาดำเนินการ
“ตั้งแต่ปี 2539-2540 มาถึงปัจจุบัน จังหวัดกระบี่มีปริมาณขยะรวมประมาณ 8 แสนกว่าตัน ที่ผ่านมาหน่วยงานท้องถิ่นใช้วิธีกำจัดโดยการฝังกลบ ต่อไปทุกท้องถิ่นจะนำขยะเข้ามาที่โรงไฟฟ้าขยะชุมชน คาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 10 ปี ซึ่งพื้นที่ที่ฝังกลบขยะจะสร้างเป็นสวนสาธารณะให้บริการชุมชน”
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตั้งอยู่ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ บนพื้นที่ 5 ไร่ โดยมีกลุ่มบริษัท ACE เป็นผู้บริหารจัดการภายใต้อายุสัญญา 25 ปี เพื่อบริหารกำจัดขยะ ซึ่งบริษัทกลุ่ม ACE ถือว่าเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ
ทั้งทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและทางด้านการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าขยะ ประกอบกับนวัตกรรมที่นำมาใช้ เป็นการกำจัดขยะที่ถูกวิธีแบบเบ็ดเสร็จ สามารถเผาขยะทุกชนิดได้พร้อม ๆ กัน เช่น กระดาษ พลาสติก ยาง ผ้า เศษอาหารจากขยะเก่าและขยะใหม่ของเทศบาล รองรับการนำขยะมากำจัดได้สูงสุดวันละ 450 ตัน ซึ่งมาจากเทศบาลในพื้นที่กระบี่ 14 แห่ง อบต. 48 แห่ง รวมกับขยะเก่าที่ฝังกลบในศูนย์แห่งนี้
“การนำขยะมาเผาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี เพราะนอกจากลดปัญหาเรื่องพื้นที่ฝังกลบแบบเดิมที่ก่อมลพิษตกค้างแล้ว ด้วยเทคโนโลยีแบบเผาตรงในระบบปิดของโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น ไม่มีฝุ่นละออง
ไม่มีการปล่อยน้ำเสีย จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือผลกระทบใดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแน่นอน ในขณะเดียวกันนั้นพบว่า ACE มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการนำน้ำชะขยะขุ่นข้นเป็นโคลนสีดำมาบำบัดจนกลายเป็นน้ำใสสะอาดเหมือนน้ำดื่ม แล้วนำกลับไปใช้ในโรงไฟฟ้าได้ทั้งหมด”
“พันตำรวจโทหม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร” ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ทางจังหวัดและเทศบาลเมืองกระบี่ได้จัดตั้งและเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการขยะ เนื่องจากกระบี่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอันดับ 4 ของประเทศ
มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 120,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปี 2563 แม้ต้องเผชิญผลกระทบโควิด-19 ยังมียอดนักท่องเที่ยวกว่า 1.5 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 9 แสนคน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 แสนคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 29,000 ล้านบาท
แต่ต้องแลกกับขยะที่เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับประชากรพื้นที่อีกกว่า 400,000 คน ส่งผลให้มีขยะตกค้างจำนวนมาก เฉพาะขยะในเขตเทศบาลเมืองกระบี่มีกว่า 800,000 ตัน นอกจากส่งผลกระทบเรื่องกลิ่นและสุขภาวะ ยังกระทบต่อทัศนวิสัย รวมถึงความประทับใจและความทรงจำของนักท่องเที่ยวด้วย
จังหวัดกระบี่จึงจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและจัดการขยะล้นเมืองที่เป็นอีกมิติสำคัญในการขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่สู่เมืองท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมของโลก ตามแนวคิด KRABI Goes Green ได้อย่างตรงจุด
“นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่จังหวัดกระบี่กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 900 กว่าล้านบาท
ปัจจุบันได้เริ่มเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2563 เร็วกว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 1/64 ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวถือเป็นแห่งที่ 2 ที่ใช้โมเดลต้นแบบจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแห่งแรกที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
สามารถกำจัดขยะชุมชนที่มีความชื้นสูงได้ถึง 80% ด้วยวิธีการเผาตรงระบบปิดแบบสุญญากาศโดยไม่จำเป็นต้องมีการคัดแยกและแปรรูปขยะให้เป็นเชื้อเพลิงก่อน รวมถึงน้ำชะขยะก็สามารถบำบัดให้เป็นน้ำใสและนำกลับมาใช้ประโยชน์ภายในโรงไฟฟ้าต่อได้
นอกจากนี้ ระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศของโรงไฟฟ้ายังเชื่อมสัญญาณตรงไปยังกรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม สามารถมอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง มีความปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้างสูง
“การจำกัดขยะระบบปิดแบบเผาตรงจะไม่ส่งกระทบในเรื่องของกลิ่น ควัน และมลพิษ รวมถึงน้ำชะขยะสามารถนำไปบำบัดและกลับมาใช้ในระบบโรงไฟฟ้าได้ทั้งหมด เป็นเทคโนโลยีจากเยอรมนี
แต่นำมาประยุกต์ใช้ในเชิงดีไซน์ เนื่องจากขยะประเทศไทยมีความชื้นสูงกว่าและมีขยะหลากหลายชนิด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขยะเก่าในจังหวัดกระบี่มีอยู่ประมาณ 800,000 ตัน และต้องมีการกำจัดขยะใหม่ด้วย จึงได้ตั้งเป้าจะจำกัดขยะเก่าให้หมดภายใน 10 ปี
และจะปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ สิ่งสำคัญที่สามารถกำจัดขยะสดได้นั้นคือการเผาไหม้ที่มีอุณหภูมิความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งไอร้อนที่เกิดขึ้นมีระบบทำความสะอาดที่เข้มข้นกว่า 5 ระบบ ก่อนที่อากาศจะออกจากปล่อง ซึ่งต้องบริสุทธิ์และได้ตามมาตรฐาน”