อธิบดีกรมชลประทานเผยรายชื่อจังหวัดทั่วไทยเตรียมรับมือรับอิทธิพล ‘พายุโกนเซิน’เฝ้าระวังน้ำหลาก และดินถล่ม
วันนี้ ( 12 ก.ย. 64 )นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น อีกทั้งพายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” (CONSON) บริเวณทะเลจีนใต้ ที่คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง บริเวณตอนเหนือของเมืองดานัง ในช่วงวันที่ 12 – 13 กันยายน 2564 ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง นั้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก(ONE MAP) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ในช่วงวันที่ 12-16 กันยายน 2564 จะมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำหลาก และดินถล่ม ได้แก่
– ภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี
– ภาคตะวันตก กาญจนบุรี
– ภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
– ภาคใต้ ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต และกระบี่
โดยมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำมูลบน อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณลำน้ำสายหลัก เข้าท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
กรมชลประทาน ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ ที่สำคัญให้ทำการแจ้งเตือนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบคโฮ เข้าประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง