ร้านเรือนไม้จังหวัดกระบี่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กว่า 80% ชี้มาตรการพักชำระหนี้ไม่ตอบโจทย์ soft loan เข้าถึงยาก หากสถานการณ์เดือนกุมภาพันธ์ยังไม่ดีขึ้น เตรียมสลับวันทำงาน-ลดเงินเดือนครึ่งหนึ่ง
นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล เจ้าของร้านอาหารเรือนไม้ จ.กระบี่ เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารเป็นอย่างมาก สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า80%
เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทยก็น้อยลงโดยปกติทางร้านจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการตลอดทั้งปี
ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์จะเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่วนเดือนมีนาคม-พฤษภาคมจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย และเดือนมิถุนายน-กันยายนคือช่วงโลซีซั่นที่มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ
ปัจจุบันร้านอาหารเรือนไม้ยังเปิดให้บริการตามปกติ เพราะถ้าหากมีการปิดกิจการชั่วคราวตามสถานการณ์เมื่อมาเปิดใหม่อีกครั้งต้องลงทุนอีกรอบ ก็หวังว่าหลังจากเดือนกุมภาพันธ์สถานการณ์จะคลี่คลายลง
“ภาพรวมของร้านอาหารในจังหวัดกระบี่นั้น ถ้าหากอยู่ในเขตท่องเที่ยว เช่น อ่าวนางและตามเกาะต่าง ๆ ปิดตัวลงค่อนข้างเยอะ ส่วนร้านอาหารในตัวเมืองยังเปิดให้บริการบางส่วน
จากปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาพักที่กระบี่อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนตอนนี้เหลือเพียงนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งเที่ยวระยะสั้นเฉพาะวันหยุด ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ และไม่นิยมเดินทางไปไกลกว่าตัวเมืองกระบี่หรือพื้นที่ที่เข้าถึงยากอาทิ เกาะพีพี และเกาะงามตา”
สำหรับร้านอาหารเรือนไม้มีแผนในอนาคตว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจจะต้องมีการคุยกับพนักงาน เรื่องต้องสลับวันทำงานหรืออาจมีการลดเงินเดือน รวมถึงลดเงินพิเศษลง แต่จะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานเพราะคาดว่าปลายปี’64 สถานการณ์คงจะดีขึ้นและยังคงจ้างพนักงานไว้ปกติ และมีการอบรมเสริมความรู้ให้กับพนักงานอีกเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต
นายอมฤตกล่าวว่า ตอนนี้ประคับประคองธุรกิจไปให้ได้แม้กำไรอาจจะไม่มี แต่ก็ขาดทุนไม่มาก ส่วนการปรับตัวไปทำดีลิเวอรี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากทางร้านต้องจ่ายค่าคอมมิสชั่นให้กับแอปสั่งอาหาร 30-35%
ซึ่งปัจจุบันร้านเปิดให้บริการเพียง 10-15 โต๊ะถือว่าเป็นร้านที่มีขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับการลงทุน และหากทำแล้วต้องมีความต่อเนื่องด้วย ถ้าสถานการณ์กลับมาปกติแล้วต้องขายทั้งหน้าร้านและส่งดีลิเวอรี่ไปพร้อมกันอาจทำไม่ทัน
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความยากในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการของรัฐที่ให้พักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือนก็ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง เพราะไม่ได้ลดดอกเบี้ยหรือเงินต้นเลย
หากรัฐอยากช่วยควรลดดอกเบี้ยเงินกู้สัก 6-7% เพราะถ้าผู้ประกอบการยังมีเงินทุนอยู่ก็สามารถนำเงินตรงนั้นไปช่วยเหลือพนักงานได้ ทั้งนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็พยายามช่วยเหลือเรื่องการทำตลาด แจกคูปองลูกค้าคนละ 500 บาท หรือทำโปรโมชั่นกระตุ้นให้คนมาใช้บริการร้านค้าร้านอาหาร แต่ทุกอย่างทำได้ยากเพราะไม่มีคนเดินทาง
“สิ่งที่เราอยากเห็นที่สุดคือพนักงานสามารถอยู่ได้โดยที่เราไม่ต้องเลิกจ้าง ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจยังไงก็ขาดทุนอยู่แล้ว แต่อย่าให้ขาดทั้งก้อนได้ไหม อย่างที่หลายคนเสนอให้ประกันสังคมมาช่วย หรือหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยสักครึ่งหนึ่งเพื่อที่จะไม่ต้องปิดร้าน ปิดกิจการ ให้ช่วยค่าแรงครึ่งหนึ่ง ถ้าช่วยตรงนี้ได้มันก็มีผลเยอะ”
นายอมฤตกล่าวต่อไปว่า อย่างพนักงานของร้านเรือนไม้เป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคมซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจากส่วนนี้บ้าง พนักงานจะได้รับเงินชดเชยตามการจ่ายที่พนักงานยื่นในแต่ละเดือน แต่ก็มีความล่าช้าเนื่องจากการดำเนินการก็ค่อนข้างยุ่งยากเพราะไม่มีการยื่นเอกสารแบบออนไลน์
ดังนั้นการเดินทางออกไปยื่นเอกสารจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก ทั้งที่เป็นผู้ที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือก่อนใคร กลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับการเยียวยาหลังสุด นอกจากนี้พนักงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้เงินน้อยกว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อผู้ที่ไม่มีประกันสังคมด้วย